วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

HNY2011. ' สวัสดีปีเถาะ

Happy Prosperous New Year 2011

H...happy มีสุข สนุกสนาน
A...advance ก้าวหน้า หาสิ่งใหม่
P...proud พร้อมเพียบเรื่อง ภาคภูมิใจ
P...protect ปลอดภัย จากภยันต์
Y...young สาวหนุ่ม อายุมั่น วรรณะผ่อง
N...normal ไม่ขัดข้อง ทุกสิ่งสรร
E...easy ง่ายดาย สารพัน
W...wealth เงินทองพลัน ไหลเทมา
Y...year สองศูนย์หนึ่งหนึ่ง ให้เริงรื่น
E...else อันสิ่งอื่น ให้สมปรารถนา
A...aim จุดมุ่งหมาย ไกลสุดตา
R...receive ให้ได้มา สมดั่งใจ...^^

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รู้ไหมทำไมน้ำมันถึงแพง?

เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาด...คือ “อั้นไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่” สำหรับสถานการณ์ “ราคาน้ำมัน” ที่นับวันจะขยับ “แพงขึ้น” ด้วยจังหวะที่ชวน “สยองใจ” เดือดร้อนกันทั่วหน้า...ตั้งแต่คนกระเป๋าหนักที่มีรถขับ จนถึงคนรากหญ้าที่ต้องพึ่งพารถโดยสาร-รถเมล์ สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งระดับบน-ระดับล่างก็ชักแถวขึ้นราคา...

ไม่ต้องเลี้ยง-ไม่ต้องปลูก...ก็แค่ขุดขึ้นมาขาย
แต่ไฉน “น้ำมัน” จึงแพงแล้ว...ก็แพงอีก ??

“น้ำมันแพง” บ้างก็ว่าเพราะประเทศเศรษฐีน้ำมัน บ้างก็ว่าเพราะมีการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมัน บ้างก็ว่าเพราะกลไก-กติกาด้านพลังงานน้ำมันของประเทศไทย ซึ่งที่จริงแล้วมันหลายปัจจัย

เทียนชัย จงมีเพียร ที่ปรึกษาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน บอกว่า... “น้ำมันดิบ” ในโลกนี้มีหลายแหล่ง ในเอเชียก็เช่นที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน แต่ก็มีในปริมาณที่ไม่มาก จะกลั่นใช้ในประเทศเป็นหลัก เหลือส่งออกไม่มาก

สหรัฐอเมริกา ก็มีน้ำมัน แต่กลั่นใช้ในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ มีส่งออกบ้างก็น้อยมาก จึงต้องมีการนำเข้า เช่นเดียวกับ จีน ที่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจำนวนมากเช่นกัน เพราะว่าเศรษฐกิจในประเทศกำลังขยายตัว จึงมีความต้องการใช้น้ำมันเยอะมาก

“ประเทศไทยก็ซื้อน้ำมันดิบจากมาเลเซียบ้าง อินโดนีเซียบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากตะวันออกกลางมากที่สุด โดยไทยนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเอง 90% คิดเป็นปริมาณ 600,000-700,000 บาร์เรล/วัน ส่วนอีก 10% นั้น ได้มาจากอ่าวไทย หรือที่กำแพงเพชร”


ผู้สันทัดกรณีบอกต่อไปว่า... “ราคาน้ำมัน” ในตลาดโลกนั้น มีการอ้างอิงอยู่ 4 ตลาดคือ ราคาเวสต์ เทกซัส ที่สหรัฐ จะแพงมากถึงแพงที่สุด เพราะน้ำมันที่ซื้อขายกันในตลาดนี้จะมีคุณภาพสูง มีค่าการกลั่นน้อย

ราคาเบรนท์ ที่อังกฤษ เป็นศูนย์รวมราคาน้ำมันที่ซื้อขายในยุโรป ขณะที่ตะวันออกจะใช้ ราคาดูไบ ซึ่งเมื่อก่อนใช้ราคาของซาอุดีอาระเบีย แต่ภายหลังซาอุฯเปลี่ยนกลไกราคา จึงใช้ราคาน้ำมันที่ดูไบแทน

สำหรับเอเชีย รวมถึงไทย จะอ้างอิงราคาสิงคโปร์

ประเทศไทยซื้อน้ำมันดิบเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปขายเองในประเทศ ก็ต้องซื้อโดยใช้ราคาอ้างอิงที่สิงคโปร์ และการตั้งราคาขายก็ต้องแอบชำเลืองราคาตลาดสิงคโปร์ด้วย ซึ่งสาเหตุที่ต้องอ้างอิงก็เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่เคลื่อนย้ายเสรี หากตั้งราคาถูกกว่า...ประเทศอื่นก็จะเข้ามาซื้อ หากตั้งแพงก็ไม่มีใครซื้อ

ที่ประเทศสิงคโปร์มีโรงกลั่นน้ำมันที่มีคุณภาพดี 5 แห่ง ในแต่ละวันมีการซื้อขาย มีการจดราคาสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละวันเอาไว้ และเฉลี่ยเป็นค่ากลางออกมา ซึ่งราคาน้ำมันอ้างอิงที่สิงคโปร์จะเป็นราคากลางที่ผู้ซื้อและผู้ขายมาตกลงกัน ไม่ใช่ราคาที่ทางสิงคโปร์เป็นคนตั้ง

“เราต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ 2 ต่อ และราคาที่เปลี่ยน แปลงในแต่ละวันนั้นเกิดจากการตกลงซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงการเก็งกำไรจากราคาน้ำมัน ทำให้เราต้องกลืนเลือดตรงจุดนี้ เพราะเป็นผลพวงมาจากกฎเกณฑ์การค้าเสรีของมหาอำนาจในโลกใบนี้”


ผู้สันทัดกรณีระบุอีกว่า... ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากหน้าโรงกลั่นไปจนถึงราคาหน้าปั๊มนั้น ต้องมีการบวกภาษีต่าง ๆ อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีของกระทรวงมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินกองทุนชดเชยพลังงาน เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานค่าการตลาด ฯลฯ ซึ่ง “ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นไปอีก !!” อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีสรรพสามิตของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว... ก็ถือว่าต่ำ

ทั้งนี้ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ อย่าง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็อยู่ในช่วงไล่ล่าหาแหล่งสัมปทานน้ำมัน โดยแหล่งที่ถูกหมายปองจับจ้องก็คือในแถบแอฟริกา อาทิ ไนจีเรีย ซึ่งทางไทยเองก็พยายามที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจสัมปทานน้ำมันในต่างประเทศเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจในเอเชียแล้ว...คงสู้เขาไม่ได้

กลไกการซื้อขายในตลาดน้ำมัน โดยเฉพาะ “การเก็งกำไร” ของนักธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “น้ำมันแพง” แล้วก็ยังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ รวมถึงมีปัจจัยธุรกิจน้ำมันในประเทศต้อง “ทำกำไร” ให้กับธุรกิจ... ซ้ำอีกต่างหาก และนับวันคนไทยจะยิ่งต้อง “กลืนเลือด” เพราะน้ำมัน แพง !!

เพราะปริมาณน้ำมันสำรองในโลกใบนี้มีจำกัด !!

เรื่องปริมาณน้ำมันสำรองจะมีให้ชาวโลกได้ใช้อีกกี่ปีแน่นั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ค่อยชัดเจน ทางสหรัฐก็ว่ายังอีกนาน ยังมีปริมาณสำรองราว 1 พันล้านล้านบาร์เรล เพราะต้องการที่จะให้มีการลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไป บางกระแสก็ว่าจะมีใช้กันอีก 50-60 ปี แต่ทางตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าของบ่อน้ำมันหลักก็ว่ามีให้ใช้ต่อไปอีกเพียง 5-10 ปีเท่านั้น ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้ก็ไปเข้าทาง “นักเก็งกำไร” เต็ม ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีให้ใช้อีกนาน-ไม่นาน ในที่สุดก็ต้อง “หมด” แน่นอนเลยว่าต่อไปน้ำมันจะยิ่งแพงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหายากขึ้น ในขณะที่ในไทยเราเรื่อง “พลังงานทดแทนน้ำมัน” ยังไปไม่ถึงไหน ?!?

ในอนาคตอีกไม่ไกล...น้ำมันอาจจะ “แพงเป็นทอง”
ในอนาคตอันใกล้...อาจมี “สงครามแย่งน้ำมัน”
ณ วันนี้...ดีที่สุดก็คือ “ช่วยกันประหยัดน้ำมัน”.